บทความสาระ
ความไม่รู้กฎหมาย จะอ้างเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้
ความไม่รู้ทั้งหลายในที่นี้ อาจเป็นความไม่รู้กฎหมายหรือไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่ถ้าเกิดกรณีว่า ถ้ามีคนตายและเป็นญาติของเขาซึ่งเขาไม่ทราบว่าเขามีอำนาจอย่างไรบ้างในทรัพย์สมบัติผู้ตาย ดังนี้ เรียกว่าเป็นความไม่รู้ข้อกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นข้อแก้ตัวได้เลย โดยมีเหตุผลว่าหากยอมให้มีการแก้ตัวได้แล้ว เมื่อมีคดีขึ้นในศาลก็จำเป็นจะต้องสืบถึงความรู้และไม่รู้ในข้อกฎหมาย ทางปฏิบัตินั้นการสืบให้สิ้นสงสัยเพื่อให้เชื่อทางใดไม่ได้แน่ชัดนัก กับทั้งจะต้องสืบถึงข้อที่เขาควรได้ทราบ หรือสถิติแห่งคนนั้น การพิจารณาคดีเรื่องหนึ่งจะยาวนานเกินสมควรเป็นการยุ่งยากแก่การพิจารณาคดี กฎหมายจึงวางหลักไม่ยอมให้สืบถึงข้อไม่รู้กฎหมายเสียทีเดียว
ในเชิงอรรถท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๙/๑๒๙ มีคำอธิบายเกี่ยวกับในข้อนี้เป็นหลักว่า “... ในเรื่องเข้าใจผิดนั้นมีว่า จะยกการเข้าใจกฎหมายผิดมาแก้ตัวไม่ได้ ด้วยเหตุว่า ถ้ายอมให้แก้ตัวได้ด้วยข้อนี้แล้ว ผู้ทำผิดทุกคนคงร้องว่า ตนเข้าใจกฎหมายผิดไป หลุดโทษได้ทุกคนกฎหมายเป็นอันไม่ต้องมีกัน ต่างคนต่างทำอะไรได้ตามชอบใจ... จะยกการเข้าใจกฎหมายผิดมาแก้ตัวไม่ได้เป็นสุภาษิตกฎหมายโรมันมาแล้ว”
อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่หากไม่ยอมรับฟังความไม่รู้กฎหมายแล้ว ก็อาจจะเป็นการไม่ยุติธรรมจนเกินไป มาตรา ๖๔ แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงยอมให้มีการแก้ตัวได้บ้าง เมื่อพิจารณา สภาพแห่งความผิด หมายความว่า กรณีที่เป็นความผิดเพราะกฎหมายห้าม (mala prohibita) มิใช่ความผิดในตัวเอง (mala in se) พฤติการณ์ หมายถึง กรณีเฉพาะตัวผู้กระทำความผิด เช่น คนต่างด้าวเพิ่งเดินทางเข้ามาในประเทศ ผู้ที่อยู่ห่างไกลมากไม่สามารถทราบถึงกฎหมายที่ประกาศใช้ใหม่ เมื่อพิจารณาถึงสภาพความผิดและพฤติการณ์แล้ว ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐาน และเมื่อมีการแสดงพยานหลักฐานแล้ว ถ้าศาลเชื่อความไม่รู้กฎหมายศาลอาจลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดก็ได้ หรือไม่ลดโทษก็ได้ แต่ศาลจะไม่ลงโทษเลยไม่ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
• เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๐), น. ๓๓๖.
• สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ความไม่รู้กฎหมาย
ความไม่รู้กฎหมาย จะยกขึ้นอ้างในศาล เพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา[1]ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59วรรค2
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ตามหลักความรับผิดทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59วรรค 1บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
ซึ่งการกระทำนั้นมีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด จะยกขึ้นอ้างความไม่รู้กฎหมายกับตำรวจหรืออัยการยังไม่ได้ ทั้งยังต้องแสดงให้ศาลเห็นและอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานว่าทำไมจึงไม่รู้
ตามแนวคำพิพากษา ถ้าเป็นการกระทำที่บุคคลทั่วไปรู้สึกได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด เรียกว่าเป็นความผิดในตัวมันเอง แบบนี้ศาลจะไม่ลดโทษให้ตามข้ออ้างว่าไม่รู้กฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64
บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้แต่ถ้าศาลเห็นว่า ตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่า การกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
การกระทำที่บุคคลโดยทั่วไปโดยปกติไม่รู้สึกว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด หรือแม้จะไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ได้มีกฎหมายมาบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด เรียกว่าผิดเพราะกฎหมายบัญญัติ แบบนี้ศาลอาจลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดโทษไว้ได้ แต่จะต้องขออนุญาตแสดงพยานหลักฐานต่อศาล หมายถึงต้องภาคเสธคือยอมรับว่าได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริง เนื่องจากไม่รู้ว่ามีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดเพราะเหตุใด
ต้องมิใช่เป็นการรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ซึ่งเท่ากับรับว่ากระทำจริง และรู้ด้วยว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่ในกรณีรับสารภาพอาจเป็นเหตุบรรเทาโทษ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้นได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัสมีคุณความดีมาแต่ก่อนรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้นลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน หรือ
ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันได้ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน
การอ้างว่าไม่รู้กฎหมายแพ่งและได้ไปกระทำการที่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา โดยสำคัญผิดว่ามีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษหรือได้รับโทษน้อยลง อาจจะถือว่าเป็นความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงใดถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลงแม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แล้วแต่กรณี เช่น การบังคับชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคิดว่าตนเองมีสิทธิกระทำได้ตามสัญญา โดยไม่มีเจตนาทุจริต อาจไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ หรือบุกรุกทรัพย์สินที่ให้เช่า การไม่รู้กฎหมายแพ่ง เช่น ทำนิติกรรมไม่ถูกตามแบบที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ นิติกรรมนั้นอาจเป็นโมฆะ หรือไม่สมบูรณ์ เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นการแพ้ชนะของคู่ความขึ้นอยู่กับประเด็นในคดี ซึ่งจะมีข้อสันนิษฐานเป็นคุณแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ศาลพิจารณาโดยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตัดสินตามประเด็นพิพาท การอ้างว่าไม่รู้กฎหมายจึงไม่มีผลให้ชนะคดีได้ เป็นการพิจารณาที่แตกต่างจากคดีอาญาซึ่งมีเพียงประเด็นว่า จำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้องหรือไม่
การอ้างว่าไม่รู้ข้อเท็จจริง(ที่เป็นองค์ประกอบของความผิด) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรค3 การไม่รู้ข้อเท็จจริง(ที่เป็นองค์ประกอบของความผิด) ถือว่าไม่มีเจตนาถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
เช่น ทำรั้วรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยเข้าใจว่ากระทำลงบนที่ดินของตนเอง ถือว่าขาดเจตนากระทำความผิดฐานบุกรุก หรือ ใช้เอกสารโดยไม่รู้ว่าเป็นเอกสารปลอม ถือว่าขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอม เป็นคนละกรณีกับการอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย
การกระทำความผิดอาญาและอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย แม้ศาลจะรับฟัง อย่างดีที่สุดก็เป็นแต่เพียงการลดโทษให้เท่านั้น ยังคงมีความผิดและต้องรับโทษอยู่ ทั้งบางกรณีมีบทสันนิษฐานเด็ดขาด ทำให้มิอาจนำสืบหักล้างได้ และไม่อาจอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย
________________________________________
แหล่งที่มา : https://lawcode.wordpress.com/2012/09/20/ความไม่รู้กฎหมาย/